21.7.54

พระพุทธศาสนาคืออะไร? จากหนังสือ ธรรมะนับหนึ่ง ^__^

สวัสดีค่ะ

ห่างหายจากการเขียน Blog ไปนาน เนื่องจากไปทำงานวุ่นวายทั้งวัน กลับมาบ้านก็ไม่อยากแตะคอม ช่วงนี้มีเวลาว่าง เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ระหว่างรองานที่ใหม่เรียก เลยมีเวลาว่างมานั่งเขียนอะไรดีๆ แบ่งปันให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน หวังว่าสิ่งที่นำมาฝากในครั้งนี้จะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ...^o^

เรื่องที่นำมาเขียนในวันนี้เป็นบทความหนึ่งจากหนังสือ "ธรรมะนับหนึ่ง" เขียนโดย ผู้ที่มีนามปากกาว่า หนุ่มน้อยในแดนธรรม เป็นหนังสือที่อ่านง่าย เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย แม้แต่คุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือเท่าไหร่ แค่วางไว้ในห้องรับแขกเฉยๆ แม่เห็นยังหยิบขึ้นมาอ่านจนจบเล่ม น่าดีใจจริงๆ ^-^ เลยคัดลอกบางส่วนบางตอนของหนังสือเล่มนี้มาให้เพื่อนๆ ได้อ่านและทำความเข้าใจกันค่ะ


ผู้เขียนตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า "พระพุทธศาสนาคืออะไร" หลายคนคงมีคำตอบผุดขึ้นมาในใจมากมาย เรามาฟังคำตอบของ "หนุ่มน้อยในแดนธรรม" กันดีกว่าค่ะ

ผู้เขียนขึ้นต้นด้วยการให้ผู้อ่านเลือกข้อที่ถูกที่สุดต่อไปนี้

a. พระพุทธศาสนาคือระบบความเชื่อ
b. พระพุทธศาสนาคือหลักปรัชญา
c. พระพุทธศาสนาคืออภิปรัชญา
d. พระพุทธศาสนาคือศาสนาแห่งปัญญา
e. พระพุทธศาสนาคือระบบการศึกษาและการปฏิบัติ
f. ถูกทุกข้อ

ผู้เขียนยังบอกอีกว่า ขึ้นบทความนี้ด้วยรูปแบบข้อสอบที่เราคุ้นเคย แต่ไม่เคยคิดอยากจะทำเพราะมันสับสนเหลือเกินและคุ้นๆ ว่าจะถูกทุกข้อ ^o^

     นิยามของพระพุทธศาสนาข้างต้นทั้งหมดนั้นข้อ e นับว่าใกล้เคียงที่สุด เพราะเป้าหมายสูงสุดคือสอนให้คนหายโง่ (อวิชชา) มนุษย์จึงต้องเรียนและฝึกให้มากๆ และอาจเป็นคำตอบที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่งงว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ในเมื่อสิ่งที่เราทำกันเป็นประจำก็มีแค่เพียงการไหว้พระ กราบพระ ทำบุญตักบาตร เวียนเทียน ฟังธรรม ไม่เห็นจะมีเรื่องการศึกษาหรือปฏิบัติสักเท่าไหร่
    
ผู้เขียนอธิบายพระพุทธศาสนาให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ ได้ว่า...

     "พระพุทธศาสนาคือโรงเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้านิพพานเพียงแห่งเดียว ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเวียนว่ายตายเกิดอันไม่สิ้นสุด มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ก่อตั้งและสอบได้เป็นคนแรก" มีพระไตรปิฎกเป็นตำรา บทบัญญัติ และระเบียบปฏิบัติ มีวัดเป็นศูนย์กลางส่งเสริมการศึกษา มีพระสงฆ์เป็นครูกวดวิชา เป็นผู้ให้แบบฝึกหัด (การบ้านก็มีการทำทาน การรักษาศีล และการภาวนา) รวมถึงตนเองก็ต้องสอบเข้านิพพานควบคู่ไปด้วย โดยมีมนุษย์ที่สนใจปฏิบัติธรรมเป็นนักเรียน
    
     นอกจากนี้ยังมีสถานปฏิบัติธรรมเป็นหลักสูตรเสริม (หรือตอนนี้จะเป็นหลักสูตรหลัก?)...มีวัฏสงสารเป็นห้องเรียน ห้องสอบ ห้องปฏิบัติการที่กว้างใหญ่ และมันใหญ่จนทำให้นักเรียนส่วนมากลืมไปว่ากำลังทำข้อสอบอยู่ตลอดเวลา ที่นี่ไม่มีช่วงเวลาปิดเทอม ไม่มีตารางเรียน แล้วแต่วิบากกรรมจะจัดสรรตารางสอนให้ มีกฎแห่งกรรมเป็นครูฝ่ายปกครอง มีแก๊งกิเลส ตัณหา อุปาทานเป็นเด็กหลังห้องที่คอยตั้งต้นเป็นใหญ่ ดึงดูดให้ใครๆ ก็อยากเข้ากลุ่ม เพราะมันเท่ห์ดี!!

     ส่วนใครที่เกเรมากๆ ก็จะมีสถานกักกันทำทัณฑ์บนคืออบายภูมิ โดยครูฝ่ายปกครองที่เฮี้ยบสุดๆ จากแผนกกฎแห่งกรรม ซึ่งไม่เคยเว้นโทษหรือหย่อนโทษให้ใครเลย ส่วนใครทำดีก็จะได้รางวัลปลอบใจเล็กๆ น้อยๆ พอให้ชื่นใจด้วยการขึ้นไปรับกรรมดีบนสวรรค์หรือชั้นพรหมก่อนที่จะกลับไปลงทะเบียนเวียนว่ายตายเกิดต่อไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น

     เด็กดีคนไหนหรืออาจารย์คนใดที่ใกล้จะสอบเข้านิพพานได้ กลุ่มแก๊งกิเลสก็จะรวมตัวไปก่อกวนเพราะความอิจฉา และไม่อยากให้ใครตีตัวออกจากกลุ่ม เดี๋ยวจะเสียการปกครอง

     นักเรียนจะมีอุปกรณ์เครื่องเรียนเป็นกายใจของตนเอง จะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนคะแนนสอบครั้งก่อน และจะมีช่วงเวลาได้นอนพักกลางวันก็ตอนตายจากชาติหนึ่งไปเกิดอีกภพชาติหนึ่ง พอตื่นขึ้นมาก็จะลืมหมดว่าเคยทำข้อสอบค้างเอาไว้ แล้วก็จะเจอข้อสอบเดิมแผ่นใหม่เอี่ยมวางอยู่บนโต๊ะ พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องเรียนคือ 'กายใหม่' และลืมไปว่าอุปกรณ์หนึ่งในนั้นเป็นชิ้นเดิมคือ 'จิต' ของตนเอง แต่ไม่ว่าจะทำอะไรลงไป ครูฝ่ายปกครองก็จะตามมาทวงคืนจนได้ ไม่ว่าเราจะจำได้หรือลืมว่าเคยทำอะไรไว้ก็ตาม

     มีเด็กนักเรียนน้อยคนที่จะรู้ว่า ตนเองสามารถบันทึกปัญญาในการทำข้อสอบลงในใจของตัวเอง เพื่อเป็นประโยชน์กับการสอบครั้งต่อไป จะได้ไม่ต้องมาเริ่มงมกันใหม่ทั้งหมด

     นอกจากนี้ก็ยังมีเด็กนักเรียนหรือครูอาจารย์กลุ่มเล็กๆ ที่เกือบจะสอบได้แล้ว (เทียบได้กับพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และอีกกลุ่มหนึ่งคือพรหมชั้นสุทธาวาส) นักเรียนกลุ่มนี้จะเริ่มตีตัวออกห่างแก๊งกิเลสมาก พวกแก๊งกิเลสก็ไม่ค่อยกล้ามาก่อกวนมากนัก เพราะเส้นเริ่มใหญ่ บารมีเริ่มมาก และมีไม่กี่คนที่สอบผ่านแล้วรอเวลาไปนิพพาน พวกแก๊งกิเลสก็จะเว้นวรรคให้ไว้ในฐานที่เข้าใจว่า "ห้ามแตะ" กลุ่มนี้ก็คือพระอรหันต์นั่นเอง

     การสอบเข้านิพพานนั้นเกิดขึ้นทุกครั้งที่ชีวิตเริ่มต้น และเมื่อเวลาสอบหมดลงคนที่ทำข้อสอบไม่เสร็จก็จะตายไปเกิดใหม่ด้วยคุณภาพชีวิตตามคะแนนที่ได้ในชั่วโมงที่แล้ว (ชาติก่อน) แต่คนจำนวนมากก็ดันลืมไปว่ากำลังทำข้อสอบอยู่ จึงชอบหนีออกไปอีลุ่ยฉุยแฉก นอกห้องเรียนกับแก๊งกิเลสซึ่งมีแหล่งมั่วสุมอยู่แถวๆ ห้องน้ำหลังโรงเรียน

     ปัจจุบันนี้กลายเป็นว่าผู้เข้าร่วมแก๊งกิเลสนั้นมีมากจนห้องน้ำหลังโรงเรียนจุไม่พอ ทางแก๊งจึงทำเรื่องขอย้ายห้องสอบนิพพานไปอยู่ในห้องน้ำหลังโรงเรียนเสีย แล้วยึดโรงเรียนเป็นที่ทำการแก๊งแทน (ฮา) นั่นก็แปลว่าจะมีนักเรียนที่เรียนซ้ำชั้นมากขึ้นเรื่อยๆ...นรกมาแล้วจ้า
    
     ทุกวันนี้การเรียนการสอนเพื่อสอบเข้านิพพานนั้นง่ายขึ้น มีมากขึ้น แต่ขั้นตอนการสอบดูเหมือนว่าจะทุลักทุเลกว่าเก่า เพราะห้องสอบนั้นเริ่มไม่ค่อยน่าพิสมัย (ห้องน้ำหลังโรงเรียน...ฮา)

     เคล็ดลับของการสอบเข้านิพพานนั้นก็คือ ต้องอยู่กับปัจจุบันให้ได้อย่างต่อเนื่อง เลือกทำโจทย์ข้อที่มีคะแนนมากที่สุดก่อนก็คือ วิปัสสนา โดยที่จะต้องไม่ลืมการทำโจทย์เสริมอย่างทาน และศีลควบคู่ไปด้วย เพราะโจทย์เสริมนั้นมีข้อมูลส่วนเสริมบางอย่างที่จะช่วยให้การภาวนาสำเร็จลงได้

     นักเรียนที่ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นถือได้ว่าได้วิชาครู ทำให้มีสติอยู่กับข้อสอบ เห็นภาพกว้างของวัฏสงสารและตระหนักรู้ว่าไม่สามารถคาดหวังกับคุณภาพของอุปกรณ์การเรียน (กาย) ในชาติใหม่ว่าจะใช้ทำข้อสอบได้หรือไม่ จึงเร่งทำข้อสอบให้จบในชั่วโมงด้วยความไม่ประมาท

     ส่วนใครที่ปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง เดี๋ยวเดียวแก๊งกิเลสก็จะมาเยี่ยมถึงที่ ใครดูถูกแก๊งกิเลสอาจจะต้องหนาว เพราะกุศโลบายของแก๊งนั้นแยบคายสุดๆ มันจะจัดฉาก ยกย่องคุณ ให้คุณตายใจว่าเป็นคนสำคัญของพวกมัน คุณจะหน้ามืดคิดว่าได้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ แล้วมันก็จะจิกหัวใช้ๆๆ คุณจนหมดเวลาสอบ แล้วคุณก็ต้องไปเริ่มสอบกันใหม่ซ้ำๆ โดยคุณต้องรับผิดต่อสิ่งที่พวกมันสั่งให้คุณทำทั้งหมด ซัดทอดความผิดก็ไม่ได้ พอคาบใหม่มาพวกมันก็จะตามมาจิก มาลาก คุณไปอีก
 
     ดังนั้นการที่เกิดมาได้เจอพระพุทธศาสนานั้นก็เหมือนได้เป็นนักเรียนเตรียมสอบนิพพานแล้ว แต่มันคงน่าเสียดายที่คุณจะถูกกิเลสลากเอาไปทุบ ถอง จนหมดเวลาสอบ หรือดันลืมไปว่ากำลังทำข้อสอบอยู่

     นิพพานนั้นคืออะไร ทำไมถึงได้สอบยากเย็นนัก เท่าที่ภูมิรู้ของผู้เขียน (หนุ่มน้อยในแดนธรรม) พอจะมี นิพพานก็คือสภาวะพ้นไปจากสมมติ พ้นจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน พ้นจากอวิชชาหรือความไม่รู้ทั้งปวง คือรู้แจ้งอย่างยิ่ง แต่นิพพานแล้วจะเป็นอย่างไรนั้น ตอบได้คำเดียวว่าไม่รู้ อยากรู้เหมือนกัน แต่จะรู้ได้ก็คงต้องเป็นพระอริยเจ้าเท่านั้น

     บทสรุปปลายทางของวิปัสสนาอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนานั้น ก็คือการฝึกฝนจิตจนเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานจริงๆ ว่าวัฏสงสารนั้นเป็นเรื่องของสมมติล้วนๆ เป็นละครฉากใหญ่ที่เรากำหนดให้ตัวเองเล่นจนลืมไปว่ามันเป็นเพียงละคร ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร หากทราบความจริงนี้แล้วก็จะได้เลิกอินกับบทเสียที

นี่คือภาพรวมของพระพุทธศาสนาในรูปแบบที่น่าจะเข้าใจง่ายที่สุด...^____^

ขออนุโมทนากับเพื่อนๆ ที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้นะคะ
เพราะคุณคือนักเรียนคนหนึ่งที่กำลังเตรียมสอบเข้านิพพาน

ขอขอบคุณผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จากใจจริงด้วยค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้นักเรียนทุกคนนะคะ

     ♥ ♥ ♥ ด้วยรักและลมหายใจ ♥ ♥ ♥     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น